32 ฐานความผิดลหุโทษตามป.อาญา

32 ฐานความผิดลหุโทษตามป.อาญา

ตามประมวลกฎหมายอาญา มีความผิดอยู่ 2 แบบ คือ ความผิดอาญาทั่วไปและความผิดลหุโทษ วันนี้ที่เราจะคุยกันก็คือ ‘ความผิดลหุโทษ’ ครับ เราจะไปดูกันว่าความผิดลหุโทษคืออะไร และผมก็ได้รวบรวมความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาให้ทุกคนแล้ว ไปดูกันเลยครับ

ความผิดลหุโทษ คืออะไร?

ความผิดลหุโทษคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ได้รุนแรงมากและมีโทษเบา ตั้งแต่โทษปรับอย่างเดียว จนถึงทั้งจำทั้งปรับ โดยที่โทษจำคุกจะไม่เกิน 1 เดือนและโทษปรับก็จะไม่เกิน 10,000 บาทครับ 

แต่ความผิดลหุโทษนี้ยอมความกันไม่ได้นะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าทำความผิดลหุโทษ ก็มักจะให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับไป ซึ่งส่งผลให้คดีอาญาเลิกกัน สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องก็จะระงับไปครับ

32 ฐานความผิดลหุโทษ

     1.ไม่ยอมบอกหรือแกล้งบอกชื่อ หรือที่อยู่เท็จแก่เจ้าพนักงาน เมื่อเจ้าพนักงานถามชื่อหรือที่อยู่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย

     2.ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

     3.กระทำการให้ประกาศ ภาพโฆษณา หรือเอกสารใดที่เจ้าพนักงานตามหน้าที่ปิดหรือแสดงไว้ หรือสั่งให้ปิด หรือแสดงไว้ หรือหลุดฉีก หรือไร้ประโยชน์

     4.ส่งเสียงทำให้เกิดเสียง หรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน

     5.พกอาวุธเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพกไปในชุมชนที่มีการจัดงานรื่นเริง หรืองานเพื่อนมัสการ หรืองานอื่นใด

     6.ผู้ใดทะเลาะกันเสียงดังในทางสาธารณะ หรือที่สาธารณะ หรือทำการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในที่ดังกล่าว

     7.ปล่อยปละละเลยให้บุคคลวิกลจริตที่ตนควบคุมดูแลอยู่ออกเที่ยวไปโดยลำพัง

     8.ไม่ช่วยผู้อื่นตามความจำเป็นที่ตนเห็นว่าอยู่ในอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้ โดยไม่ควรกลัวอันตราย

  1. ทำให้รางระบายน้ำ ร่องน้ำ หรือท่อระบายของโสโครกสาธารณะเกิดขัดข้องหรือไม่สะดวก

     10.ยิงปืนที่ใช้ดินระเบิดโดยไม่มีเหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน

     11.ปล่อยปละละเลยให้สัตว์ดุร้ายที่ตนควบคุมดูแลนั้น เที่ยวไปโดยลำพัง ซึ่งอาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์

     12.เสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น จนทำให้ตนเมา ประพฤติวุ่นวาย หรือคุมสติไม่ได้ขณะในถนนสาธารณะหรือที่สาธารณะ

     13.ชักหรือแสดงอาวุธในการทะเลาะวิวาท

     14.ทำให้เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระ หรือที่เก็บน้ำ สำหรับให้ประชาชนใช้

     15.ทารุณสัตว์ หรือฆ่าสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอันไม่จำเป็น

     16.ใช้สัตว์ให้ทำงานจนเกินสมควรหรือให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะสัตว์นั้นอายุน้อย เจ็บปวด หรือชรา

     17.เมื่อเกิดเพลิงไหม้หรือสาธารณะภัยอื่น ผู้นั้นไม่ช่วยระงับเมื่อเจ้าพนักงานเรียกให้ช่วย ทั้งที่สามารถช่วยได้

     18.แกล้งเล่าความเท็จให้ลือกัน จนทำให้ประชาชนตกใจ

     19.กีดขวางทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย หรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทิ้งสิ่งของ หรือกระทำประการอื่นใดโดยไม่จำเป็น

     20.ขุดหลุม หรือราง หรือปัก หรือวางสิ่งของเกะกะไว้ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย หรือทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ละเลยไม่แสดงสัญญาณตามสมควร เพื่อป้องกันเหตุร้าย

     21.แขวน หรือติดตั้ง หรือวางสิ่งใดในลักษณะที่น่าจะตกหรือพังลง ซึ่งจะเป็นอันตราย หรือเดือดร้อน แก่ผู้สัญจรในทางสาธารณะ

     22.กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าคนจำนวนมากโดยเปลือย หรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอื่นๆ

     23.ทำด้วยประการใดๆ ให้ของแข็งตกลง ณ​ ที่ใดๆ ซึ่งน่าจะเป็นอันตราย หรือเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลหรือทรัพย์ หรือทำให้ของโสโครก เปรอะเปื้อน หรือน่าจะเปรอะเปื้อนบุคคลหรือทรัพย์ หรือแกล้งทำให้ของโสโครก เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ

     24.กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจ

     25.ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ   

     26.ขู่เข็ญให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจ

     27.ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา

     28.ไล่ ต้อน หรือทำให้สัตว์ใดๆเข้าไปในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดิน เพาะพันธุ์ หรือมีพืชพันธุ์ หรือมีผลิตผลอยู่

     29.ปล่อยปละละเลยให้สัตว์ที่ตนควบคุมเข้าไปในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดิน เพาะพันธุ์ หรือมีพืชพันธุ์ หรือมีผลิตผลอยู่

     30.ทิ้งซากสัตว์ที่อาจเหม็นเน่าในหรือริมทางสาธารณะ

     31.กระทำการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุมคาม หรือทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่น

     – การกระทำตามวรรค 1 ถ้าทำในที่สาธารณะ หรือต่อหน้าคนจำนวนมาก หรือ ทำในลักษณะที่ส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ (รับโทษเพิ่มขึ้น)

     – การกระทำตามวรรค 2  ถ้ากระทำโดยอาศัยเหตุที่ตนมีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในฐานะผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น (รับโทษเพิ่มขึ้น)

     32.กระทำการใดๆ อันเป็นการทารุณเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี คนเจ็บป่วยหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้กระทำในการดำรงชีพ หรือการอื่นใด

 

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด