ถูกโกงบัตรคอนเสิร์ต ต้องทำยังไง ?

ถูกโกงบัตรคอนเสิร์ต ต้องทำยังไง ?

ในช่วงที่จะมีคอนเสิร์ตเรียกได้ว่าเจอกันเกลื่อนเต็ม facebook, twitter หรือ platform อื่นๆ ที่มีการเปิดให้สามารถขายบัตรที่กดกันมาได้เลยนะครับ กับ “การโกงบัตรคอนเสิร์ต” วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูว่าการโกงเหล่านี้มันมีความผิดยังไง และเราสามารถทำอะไรได้บ้างถ้าโดนโกงขึ้นมาจริงๆ ไปดูกันเลยครับ  

ต้องบอกก่อนว่าการกดบัตรคอนเสิร์ตกลายเป็นอาชีพของใครหลายๆ คนเลย รับกดบัตรแทนบ้าง หรือไปกดบัตรมาเพื่อขายต่อ แต่มิจฉาชีพทั้งหลายก็เห็นช่องว่างเหล่านี้ในการเข้ามาหลอกขายบัตรทั้งที่ไม่มีบัตรเพราะใครจะไปรู้ได้ล่ะครับ คนซื้อต้องดูกันเอาเองว่าใครน่าเชื่อถือบ้าง ทำให้มีเหยื่อหลายรายเลยที่ถูกหลอก เราไปดูกันดีกว่าครับว่าคนเหล่านี้จะมีความผิดอะไรบ้าง แล้วถ้าเราโดนโกง เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

หลอกขายบัตรคอนฯ เป็นฉ้อโกง

อย่างแรกแน่นอนเลยว่านี่มันเป็นการโกงถูกไหมครับ คนร้ายกระทำการหลอกลวงโดยการอ้างว่าปล่อยหรือขายบัตรคอนเสิร์ตต่อทั้งที่จริงๆ แล้วคนร้ายไม่มีบัตรคอนเสิร์ตเลย สุดท้ายก็ได้เงินไปจากคนที่หลงเชื่อ การกระทำในลักษณะนี้จะเข้าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ที่วางหลักว่าผู้ใดกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และการหลอกลวงนั้นได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามไป

และที่สำคัญเลยคือการที่คนร้ายโพสต์ขายบัตรลงในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปไหนก็ตาม คนที่อยู่ในแอปนั้นก็จะเห็นถูกมั้ยครับ ซึ่งในแต่ละแอปที่ใช้ก็มีคนจำนวนมากใช้งาน และผมเชื่อว่าเหยื่อที่หลงเชื่อก็ไม่ได้มีแค่คนเดียวแน่นอนเพราะคนร้ายมักจะลดราคาลงจากราคาบัตรจริงเพื่อจูงใจคนให้มาซื้อ แต่ก็ไม่ได้ลดราคาลงมามากเกินไปเพื่อทำให้คนไม่สงสัย การกระทำของคนร้ายจึงเป็นการหลอกลวงคนจำนวนมาก เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ที่จะทำให้คนร้ายต้องรับโทษหนักขึ้นด้วยครับ

ความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ

การที่คนร้ายโพสต์ข้อความหลอกลวงว่าขายบัตรคอนเสิร์ตต่อทั้งที่ตนเองไม่มีบัตรก็อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วยครับ เพราะการโพสต์ข้อความและรูปลงโซเชียลนั้นก็เป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีพ.ร.บ.คอมฯ ควบคุมการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบอยู่ด้วย

การที่โพสต์ข้อความและรูปที่ไม่เป็นความจริงโพสต์ลงไปในโซเชียลนั้นคนร้ายเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 14 ที่วางหลักว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำอย่างไร เมื่อถูก “โกง”

 เรารวบรวมขั้นตอนเมื่อถูกโกงที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองไว้ให้แล้ว ทุกคนสามารถดูตามด่านล่างได้เลยครับ

  1. การโกงเป็นความผิดอาญา ผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกโกงสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อนพักงานสอบสวนในท้องที่ได้เลย หรือสะดวกที่ไหนก็ไปที่นั่นครับ เราสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทุกสถานีตำรวจทั่วไทยเลย หรือคดีแบบนี้สามารถแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตามนี้ได้เลยครับ https://thaipoliceonline.com/
  2. เก็บรวบรวมหลักฐาน เราจะต้องเก็ลหลักฐานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นโพสต์ที่คนร้ายลง แชทที่คุยกับคนร้าย หรือสลิปการโอนเงิน มีอะไรแคปภาพเก็บเอาไว้ให้หมดเลยครับ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการเอาผิดกับคนร้าย
  3. แจ้งอายัดบัญชีคนร้าย หากแจ้งความอะไรเรียบร้อยแล้วให้นำเอกสารการแจ้งความไปดำเนินการอายัดบัญชีของคนร้ายที่ธนาคารเจ้าของบัญชีคนร้ายครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด