หนังสือทวงถาม

หนังสือทวงถาม

                 ในทางปฏิบัติ ก่อนฟ้องคดี ทนายความก็จะมีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือเราอาจจะรู้จักกันในชื่อ Notice ซึ่งเป็นขั้นตอนของทนายความที่หลายคนอาจจะไม่รู้ แล้วหนังสือบอกกล่าวทวงถามนี้ส่งไปเพื่ออะไร และจะต้องส่งก่อนฟ้องทุกคดีเลยหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบให้ทุกคนครับ

หนังสือบอกกล่าวทวงถาม คืออะไร

                   เรามาทำความรู้จักกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามกันก่อนครับ หนังสือบอกกล่าวทวงถาม คือ หนังสือที่เจ้าหนี้ส่งให้แก่ลูกหนี้เพื่อเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด หรืออาจจะเป็นหนังสือแจ้งเจตนาของตัวเจ้าหนี้ก็ได้ เช่น แจ้งการบอกเลิกสัญญาครับ โดยตัวหนังสือนี้เจ้าหนี้จะแจ้งไปด้วยว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามเจ้าหนี้จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

                    หนังสือบอกกล่าวทวงถามจึงบอกในนิยามอยู่แล้วว่า

1.เจ้าหนี้ส่งไปเพื่อเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ชำระภายในเวลา เจ้าหนี้ก็จะฟ้องคดีต่อศาล

2.เจ้าหนี้ส่งไปเพื่อแสดงเจตนาบางอย่าง เช่น เลิกสัญญา หรือบอกล้างโมฆียะกรรม ให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ 

3.เจ้าหนี้ส่งไปแจ้งตามที่กฎหมายกำหนดให้แจ้งหรือเพื่อให้เจ้าหนี้เกิดสิทธิบางอย่างจากการแจ้งนั้น

ต้องส่งหนังสือทวงถามก่อนฟ้องคดีทุกครั้ง จริงหรือไม่

                  เข้าสู่คำถามที่ว่า แล้วหนังสือทวงถาม มันต้องส่งทุกครั้งก่อนฟ้องคดีหรือเปล่า ผมขอตอบตรงนี้เลยว่า ไม่จำเป็นครับ  เรื่องไหนที่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งหรือต้องแจ้งก่อนฟ้องคดี ก็สามารถฟ้องคดีได้เลย แต่ถ้าเรื่องนั้นมีกฎหมายกำหนดว่าต้องส่งก่อนหรือต้องแจ้งก่อนถึงจะฟ้องได้ แบบนี้เราก็จะต้องส่งเท่านั้นครับ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับในข้อ 3. เจ้าหนี้ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปแจ้งตามที่กฎหมายกำหนดให้แจ้งหรือแจ้งเพื่อให้เจ้าหนี้เกิดสิทธิบางอย่างจากการแจ้งนั้น โดยผมขอยกตัวอย่าง 3 กรณีที่จะต้องแจ้งก่อนครับ

                  1 กรณีแจ้งเพื่อให้เจ้าหนี้เกิดสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัด

กรณีนี้จะต้องเป็นกรณีที่หนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งแน่นอนว่าลูกหนี้ไม่มีทางผิดนัดได้เพราะมันไม่มีกำหนดชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ต้องการเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกได้เลย แต่จะไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยสำหรับการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังนั้นหากเจ้าหนี้ต้องการฟ้องและเรียกดอกเบี้ยผิดนัดด้วยแล้ว เจ้าหนี้ก็จะต้องบอกกล่าวแจ้งกำหนดเวลาให้ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ก่อน โดยกำหนดเวลาตามสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะ 15 วันครับ คราวนี้ถ้าลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระ ลูกหนี้ก็จะต้องเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ในคำฟ้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็สามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ 

                   วิธีการแจ้งนี้กฎหมายไม่ได้บอกว่าจะต้องแจ้งกับแบบไหน ดังนั้นแค่บอกปากเปล่าก็อาจทำได้ครับ แต่ในทางปฏิบัติก็มักจะส่งเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปอยู่แล้ว อีกอย่างก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานนการฟ้องคดีได้ด้วย 

                  2 กรณีแจ้งเพื่อใช้สิทธิฟ้องคดี เช่น ถ้าหนี้นั้นมีผู้ค้ำประกันหรือมีผู้จำนอง ถ้าเจ้าหนี้ต้องการที่จะฟ้องผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองด้วย กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้แจ้งการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นไปยังตัวผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองก่อน เจ้าหนี้ถึงจะมีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง ถ้าเจ้าหนี้ไม่แจ้ง เจ้าหนี้ก็จะไม่มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง

                  3 กรณีแจ้งเพื่อใช้สิทธิตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย 

กรณีนี้จะใช้บ่อยในเรื่องการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายครับ คือ การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะต้องได้ความเบื้องต้นก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือก็คือลูกหนี้มีหนี้มากกว่าทรัพย์สินนั่นเอง แต่บางทีลูกหนี้จะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือเปล่าก็สืบกันยาก กฎหมายเลยมีบทสันนิษฐานเข้ามาช่วยเจ้าหนี้ทั้งหลายว่า ถ้าลูกหนี้เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีได้ครับ และหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็คือ ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันและลูกหนี้ก็ไม่ชำระหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แบบนี้เจ้าหนี้ก็สามารถใช้หนังสือทวงถามเป็นหลักฐานในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ครับ

หากต้องการส่งหนังสือทวงถาม สำนักงานของเราก็มีบริการทำหนังสือทวงถามพร้อมส่งสำหรับทุกคนที่ต้องการครับ

 

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด