ทำสัญญากู้ยืมเงินแบบไหน ใช้เป็นหลักฐานฟ้องคดีได้

ทำสัญญากู้ยืมเงินแบบไหน ใช้เป็นหลักฐานฟ้องคดีได้

                     รู้หรือไม่? กฎหมายกำหนดแบบของแต่ละสัญญาเอาไว้ด้วย วันนี้เรามาดูกันที่แบบง่ายๆ เป็นสัญญาที่เรามักจะเห็นได้บ่อยครั้งเลยครับ เวลาเราไม่มีเงินก้อน แล้วจำเป็นต้องใช้ เราก็ต้องไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาก่อน ว่าแต่กฎหมายได้กำหนดเรื่องแบบสัญญายืมเงินเอาไว้หรือเปล่า? วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ บอกเลยว่าถ้าใครไม่รู้ระวังเงินที่ให้ยืมไปจะไม่ได้คืนนะครับ

แบบตามกฎหมาย

                    ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักกับเรื่องแบบกันก่อน แบบตามกฎหมาย คือวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์ เช่น ทำเป็นหนังสือสัญญา หรือนำไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ เป็นต้น ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตาม นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ เหมือนไม่ได้ทำสัญญากันมาตั้งแต่แรก

แบบสัญญายืมเงิน

                   แต่ขอเบรกไว้ก่อน!! แบบสัญญายืมเงิน ไม่ใช่แบบที่ถ้าเราไม่ทำตาม แล้วสัญญาจะตกเป็นโมฆะนะครับ สัญญากู้ยืมเงินกฎหมายกำหนดให้ทำแค่หลักฐานเป็นหนังสือครับ แม้จะไม่ทำเป็นหนังสือ สัญญาก็สมบูรณ์นั่นเอง 

                   เพราะฉะนั้น สัญญากู้ยืมเงินในทางกฎหมายเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบนั่นเองครับ สัญญากู้ยืมเงิน จึงทำกันปากเปล่าได้ ไม่ตกเป็นโมฆะครับ แต่ถึงอย่างงั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ก็กำหนดให้การกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ถึงจะไม่ใช่แบบแต่ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า แบบสัญญายืมเงิน นะครับ จะได้เข้าใจกันง่ายๆ

                  สรุปก็คือ ถ้ากู้กันตั้งแต่ 2,001 บาท กฎหมายให้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ถ้าไม่ทำสัญญากัน จะมาฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้ แต่ตัวสัญญามีผลใช้บังคับตามกฎหมายตามปกติ แค่ถ้าเขาไม่จ่าย เราจะไปฟ้องศาลแล้วบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้ครับ

แบบสัญญายืมเงิน ต้องมีอะไรบ้าง

                   ตามมาตรา 653 ผมสรุปออกมาได้ตามนี้ครับ

1.ทำเป็นหนังสือ

2.รายละเอียดที่ต้องมีในสัญญาตามปกติ เช่น วันที่ทำสัญญา สถานที่ทำสัญญา ชื่อที่อยู่หรือรายละเอียดของตัวคู่สัญญา และข้อตกลงในสัญญาว่า คู่สัญญาตกลงให้ยืมเงินกันกี่บาท ผู้กู้ได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญา ตกลงจ่ายกันยังไง ผ่อนกี่เดือน เดือนละเท่าไหร่ ต้องชำระวันไหน ถ้าไม่ชำระจะทำยังไง มีการเอาทรัพย์สินมาประกันหนี้กันหรือเปล่า เป็นต้นครับ

3.ลงลายมือชื่อผู้กู้และผู้ให้กู้

กู้เงินผ่านแชท ต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง

                    ปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครไปเจอหน้ากันแล้วรับเงินก้อนกันแล้วใช่ไหมล่ะครับ ตอนนี้ก็แค่ทักแชทไป แล้วขอกู้ ถ้าอีกฝ่ายโอเค เขาก็โอนเงินที่กู้มาให้ ซึ่งแน่นอนว่ากู้เงินกันผ่านแชท ยังไงก็ไม่ได้ทำสัญญากันอยู่แล้ว แล้วแบบนี้ถ้าอีกฝ่ายไม่จ่าย เราจะฟ้องได้ไหม แล้วต้องเก็บหลักฐานอะไรไปฟ้อง 

คำตอบคือฟ้องได้ครับ และการกู้เงินกันผ่านแชทก็ไม่มีแบบสัญญายืมเงินเช่นกัน แต่ต้องเก็บหลักฐานตามนี้ไว้ครับ

1.แคปแชทที่มีข้อความว่าตกลงยืมเงินกัน เป็นเงินกี่บาท ตกลงจะคืนวันไหน

2.หน้าบัญชีผู้ใช้ของผู้กู้ในแต่ละ Application

3.หลักฐานการโอนเงินหรือสลิปการโอนเงิน

ผลของการทำสัญญายืมเงินเป็นหนังสือ

                  อย่างที่ได้ย้ำไปว่า การกู้ยืมเงินไม่มีแบบที่กฎหมายกำหนด แม้ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ การกู้ยืมนั้นก็สมบูรณ์ครับ แต่ถ้ามีการทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญแล้ว สัญญานั้นก็จะมีหลักฐานกันชัดเจนว่ามีการกู้กันจริง และผลที่สำคัญคือ ถ้าผู้กู้ไม่จ่าย เราสามารถนำสัญญานี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้เลยครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด