คดียักยอกทรัพย์ คืออะไร ?
คดียักยอกทรัพย์ คืออะไร? แล้วแบบไหนเป็นยักยอกทรัพย์
ถ้าอยากฟ้องต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบให้คุณครับ
คดียักยอกทรัพย์ คืออะไร ?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ยักยอก” มาจากการยักยอกเงินบริษัทบ่อยๆ กันใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วยักยอกใช้ได้กับทรัพย์ทุกอย่างเลย แค่การกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ก็ฟ้องคดียักยอกทรัพย์ได้เลย
คดียักยอกทรัพย์ คืออะไร ?
คดียักยอกทรัพย์ คือ คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา โดยความผิดฐานยักยอกนี้จะอยู่ในมาตรา 352 ที่วางหลักว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอก
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้ครับ
- ครอบครอง
การครอบครองนี้จะต้องเป็นการครอบครองอย่างแท้จริง โดยที่เจ้าของสละการครอบครองทรัพย์นั้น เช่น ผู้เช่าเช่าบ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์ และผู้ให้เช่าบอกให้ช่วยดูแลเฟอร์นิเจอร์ในบ้านด้วย แบบนี้เป็นการมอบหมายให้ผู้เช่าครอบครองทรัพย์ในบ้านนั้นแล้ว ถ้าผู้เช่าเอาเฟอร์นิเจอร์ไปก็จะเป็นยักยอกครับ
แต่ถ้าแค่ยึดถือไว้แทนชั่วคราว เจ้าของไม่ได้สละการครอบครอง ถ้าเอาทรัพย์นั้นไปจะไม่เป็นยักยอกครับ เช่น ฝากกระเป๋าไว้ชั่วคราวระหว่างที่ไปเข้าห้องน้ำ แบบนี้เจ้าของไม่ได้สละการครอบครองครับ ถ้าเอาไปจะเป็นความผิฐานลักทรัพย์ครับ
2.ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ในเรื่องความเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นไปตามหลักกรรมสิทธิ์ในทางแพ่งเลยครับ เช่น ใครซื้อมา คนนั้นก็เป็นเจ้าของ หรือทรัพย์มีทะเบียน ก็ดูทะเบียนของทรัพย์นั้นว่ามีชื่อใคร คนนั้นก็เป็นเจ้าของ
3.เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
การเบียดบังทรัพย์ คือการที่เราแสดงตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นในลักษณะที่ตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของเดิม อาจจะโดยการแปรสภาพทรัพย์นั้นหรือขายทรัพย์นั้นให้คนอื่น หรือเอาไปซ่อนเพื่อจะเก็บไว้ใช้เองหรืออ้างกับคนอื่นว่าเป็นของตนเอง หรือง่ายๆ ก็คือเอาทรัพย์นั้นไปใช้ตามใจเหมือนของตัวเองซื้อมาโดยไม่คิดจะคืนเจ้าของ
ที่สำคัญจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ “โดยทุจริต” ด้วย กล่าวคือ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ง่ายๆ คือต้องการหาประโยชน์จากสิ่งที่เราได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเองครับ
ถ้าครบองค์ประกอบทั้งหมดที่ผมบอกมาแล้ว ก็เตรียมจ้างทนายฟ้องคดียักยอกได้เลยครับ แต่ถ้าใครยังไม่ชัวร์สามารถโทรปรึกษาทนายความหรือไปสถานีตำรวจลองถามตำรวจดูได้เลยครับ ถ้าเข้าข่าย ตำรวจก็จะรับแจ้งความครับ
โดยให้เรารวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกนั้น เช่น เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกยักยอก เอกสารที่แสดงว่ามีการส่งมอบการครอบครองไปให้แก่ผู้กระทำ หลักฐานที่แสดงว่าผู้กระทำเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตนเอง หรือหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องและสามารถรวบรวมมาได้ ก็รวบรวมมาให้หมดครับ ถ้าประสงค์จะฟ้องเองก็นำหลักฐานเหล่านั้นมาให้ทนายความตรวจดูเบื้องต้นก่อนได้เลยว่าเพียงพอที่จะใช้ในการฟ้องหรือไม่ครับ
อายุความฟ้องคดียักยอกทรัพย์
คดียักยอกเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เป็นคดีที่ยอมความกันได้ ดังนั้นผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกยักยอกจะต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลา 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำ หากไม่แจ้งความหรือฟ้องคดีภายในระยะเวลาดังกล่าว คดีนั้นก็จะหมดอายุความในการดำเนินคดีครับ
คดียักยอกทรัพย์ ฟ้องศาลไหน?
คดียักยอกเป็นความผิดอาญา โดยหลักก็คือเราจะต้องฟ้องต่อศาลที่ความผิดเกิดครับ ดูว่าความผิดฐานยักยอกสำเร็จที่ไหน เราก็ฟ้องต่อศาลที่ความผิดเกิดในเขตได้เลยครับ แต่ถ้าจำเลยมีที่อยู่ ถูกจับ หรือถูกสอบสวนนอกเขตศาลที่ความผิดเกิดก็สามารถฟ้องในเขตเหล่านี้ได้เช่นกันครับ
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!