เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ได้เท่าไหร่

จ่ายค่าเลี้ยงลูกคนเดียว สามารถฟ้อง เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร จากอีกฝ่ายได้

แล้วถ้าฟ้องจะได้ค่าเลี้ยงดูบุตรเท่าไหร่ วันนี้เรามีคำตอบครับ

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ได้เท่าไหร่

                    พ่อแม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยกันอุปการะเลี้ยงดูบุตร ถ้าใครคนหนึ่งถูกทิ้งให้เลี้ยงดูคนเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่ช่วยอะไรเลย คนที่ต้องเลี้ยงดูบุตรคนเดียวก็สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ ผมเชื่อว่าหลายคนก็พอรู้กันอยู่บ้างว่ามันฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ แต่จะได้เท่าไหร่ล่ะ? แล้วศาลจะดูจากอะไรบ้าง? เราไปดูคำตอบของคำถามนี้กันเลยครับ

ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร คืออะไร?

                    ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร คือการที่พ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปผู้เดียวยื่นฟ้องพ่อหรือแม่ที่ไม่ได้ช่วยดูแลค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นจำเลยต่อศาลเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ตนได้จ่ายไปฝ่ายเดียว

ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ได้เท่าไหร่?

                 มาถึงคำถามที่เป็นไฮไลท์ของเราแล้วนะครับ ถ้าเราจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่ายจะได้เท่าไหร่? จะได้กี่บาท? 

          การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร โดยหลักกฎหมายแล้ว เป็นการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรที่พ่อหรือแม่ฝ่ายหนึ่งได้จ่ายไปแต่ผู้เดียว ถามว่ากฎหมายได้กำหนดไว้หรือไม่ คำตอบคือกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ครับว่าจะเรียกค่าอะไรได้บ้าง หรือเรียกได้เท่าไหร่ แต่ศาลจะดูพฤติการณ์และข้อเท็จที่บุตรคนนั้นต้องใช้จริงครับ 

          ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นรายเดือน โดยดูตามช่วงอายุช่วงวัยของบุตรว่า ช่วงวัยนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่ ที่ใช้ไปมันเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ก็ได้มีการกำหนดให้อำนาจศาลเอาไว้ว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนี้ศาลจะให้เท่าไหร่ก็ได้หรือไม่ให้ก็ได้ เป็นดุลยพินิจของศาลเลย แต่ก็มีการกำหนดกรอบเอาไว้ว่า ศาลจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้่ครับ 

1.ความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ศาลจะต้องดูว่าผู้มีหน้าที่ต้องให้นั้นทำงานอะไร มีรายได้เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ รวมทั้งมีหนี้สินอะไรบ้าง เพื่อพิจารณารวมกันว่าผู้ที่ต้องให้มีความสามารถที่จะให้ได้เท่าไหร่ 

2.ฐานะของผู้รับ ศาลต้องดูว่าผู้รับมีฐานะเป็นอย่างไร มีรายได้ดีหรือเปล่า เพื่อให้เกิด

ความเท่าเทียมกัน ไม่งั้นถ้าศาลไม่ดูฐานะผู้รับเลย เกิดผู้รับมีฐานะหรือมีรายได้ดีกว่าผู้มีหน้าที่ต้องให้ แบบนี้ก็อาจจะไม่ยุติธรรมกับผู้มีหน้าที่ต้องให้ก็ได้

3.พฤติการณ์แห่งกรณี ศาลจะต้องดูพฤติการณ์โดยรวมของกรณีนั้นด้วยว่าเด็กอายุเท่า

ไหร่ อยู่ในวัยไหน ต้องใช้ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายที่ขอมามันจำเป็นแค่ไหน และดูพฤติการณ์ทั้งหมดโดยรวมประกอบกัน

                 ดังนั้น ในการฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรนี้ ก็จะต้องเรียกไปตามที่เราจ่ายเพื่อเลี้ยงดูบุตรไปตาม

ความเป็นจริงครับ เช่น ค่าแพมเพิส ค่านม ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในการเรียน เป็นต้นครับ ซึ่งจะได้เท่าไหร่ก็คำนวณที่ต้องใช้จริงและจ่ายไปฝ่ายเดียว จากนั้นก็เรียกไปในคำฟ้องว่าต้องการเรียกเป็นจำนวนเท่าไหร่ ส่วนจะได้ค่าเลี้ยงดูบุตรจริงเท่าไหร่นั้นศาลก็จะพิจารณาโดยคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวข้างต้นและพิพากษาไปครับว่าจะให้หรือไม่ให้ ถ้าให้ ให้เท่าไหร่ แต่จะให้ผมบอกเป็นตัวเลขเลยคงยากครับ เพราะแต่ละคน แต่ละครอบครัว ก็มีพื้นฐานในการใช้จ่ายต่างกัน เพราะฉะนั้นลองคำนวณของตัวเอง แล้วปรึกษาทนายความก่อนได้เลยครับ

                 แต่ถึงศาลจะพิพากษาแล้ว ถ้าภายหลังมีพฤติการณ์เปลี่ยนไป เช่น ค่าครองชีพสูงขึ้น 

ของแพงขึ้นหรือถูกลง หรือตอนแรกผู้ที่ต้องให้ไม่สามารถให้ได้ แต่ภายหลังมีรายได้มากขึ้นแล้ว หรือตอนแรกผู้รับมีฐานะดี แต่ภายหลังกลับมีปัญหาทำให้ตามสภาพควรได้รับค่าเลี้ยงดู ก็อาจขอให้ศาลแก้ไขค่าเลี้ยงดูที่เคยพิพากษาไปแล้วได้ครับ 

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้จนบุตรอายุกี่ปี?

                ตามกฎหมายบิดามารดามีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ เท่ากับว่าถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะหรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว บิดามารดาก็ไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะต่อไป ดังนั้นการเรียกค่าเลี้ยงดูจึงเรียกได้จนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะนั่นเอง 

                 แต่ถ้าเอาเข้าจริง สภาพสังคมในปัจจุบัน ถ้าจะให้ค่าเลี้ยงดูจนถึงบรรลุนิติภาวะอาจจะไม่เพียงพอเพราะส่วนใหญ่ตามสภาพสังคมหรือในการทำงานก็ต้องการคนที่จบปริญญาตรี รวมทั้งตัวเด็กก็อาจต้องการเรียนจบปริญญาตรีด้วย ดังนั้นก็อาจขอค่าเลี้ยงดูจนบุตรเรียนจบในชั้นปริญญาตรีก็ได้ครับ

อายุความการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร

                 อายุความการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรนี้จะอยู่ที่ 5 ปีนับแต่วันที่บิดาหรือมารดาได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียวนั่นเอง โดยเริ่มจ่ายไปฝ่ายเดียววันไหนก็ถือเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ก็นับจากวันนั้นไป 5 ปีครับ

ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้ 5 ปี!!

                  การเรียกย้อนหลังนี้ก็เป็นไปตามเรื่องอายุความที่ได้กล่าวไปด้านบนเลยครับ เพราะตามกฎหมายเราเรียกได้เมื่อเราจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรไปฝ่ายเดียวใช่ไหมครับ อายุความกำหนดที่ 5 ปี ถ้าค่าเลี้ยงดูไหนเกิน 5 ปีแล้วตามสิทธิจริงๆ ก็อาจเรียกได้ แต่ถ้าฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องให้หรือจำเลยเข้ามาต่อสู้คดีและยกประเด็นอายุความขึ้นสู้ เราก็สามารถเรียกย้อนหลังได้เพียง 5 ปี อะไรที่เกิน 5 ปี ก็เรียกไม่ได้ครับ

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส จะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

              ผมขอตอบเลยว่าได้ครับ โดยวิธีการคือฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรไปพร้อมกับการฟ้องรับรองบุตร ซึ่งผมได้เคยเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว ทุกคนสามารถตามไปอ่านได้ที่ ไม่จดทะเบียนสมรส จะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

Info - เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้เท่าไหร่

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด