การยกที่ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

การยกที่ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 

ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไหม?

การยกที่ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไหม?

การยกที่ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

                    #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับการยกที่ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ว่าต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไหม แล้วสามารถเรียกค่าเสียหายจากผู้อื่นที่ใช้ที่ดังกล่าวได้หริอไม่ ในกรณีแบบนี้ศาลท่านจะตัดสินว่าอย่างไรครับ

                  เรื่องมีอยู่ว่า…นายไพรฟ้องว่านายไพรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10512 ต่อมาสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้ตัดถนนผ่านที่ดินของนายไพรยาวจากเหนือจดใต้ นายเล็กซึ่งปลูกบ้านอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินของนายไพร ได้ว่าจ้างรถบรรทุกดินนำดินมาถมในที่ดินของนายไพรซึ่งอยู่ระหว่างถนนสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กับบ้านของนายเล็ก เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา ทำให้นายไพรเสียหายปีละ 5,000 บาท ขอให้บังคับนายเล็กขนดินออกจากที่ดินของนายไพรและทำให้อยู่ในสภาพเดิม หากนายเล็กไม่ปฏิบัติตามให้นายไพรดำเนินการเอง โดยให้นายเล็กเสียค่าใช้จ่ายและให้นายเล็กใช้ค่าเสียหาย จำนวน 5,000 บาท และต่อไปอีกปีละ 5,000 บาท จนกว่านายเล็กจะปฏิบัติการดังกล่าวเสร็จแก่นายไพร นายเล็กให้การว่านายเล็กได้ถมดินในบริเวณที่นายไพรได้อุทิศให้ฯ โดยนายเล็กได้รับอนุญาตจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทแล้ว ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ค่าเสียหายที่นายไพรเรียกสูงเกินจริงขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง , นายไพรอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

                  นายไพรฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง นายไพรฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การอุทิศที่ดินพิพาทรายนี้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการให้ที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่าเดิมที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 10512 ของนายไพร เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2530 นายไพรได้ทำหนังสืออุทิศที่พิพาทดังกล่าวให้แก่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเพื่อทำการสร้างถนนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยส่วนหนึ่งเป็นตัวถนนและส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรัศมีถนนทั้งสองข้าง หลังจากนั้นสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้จัดทำถนนมีความกว้าง 30 เมตร โดยวัดจากจุดกึ่งกลางถนนไป ข้างละ15 เมตร ในปี 2532 นายเล็กได้ถมดินลงในที่พิพาททำเป็นทางจากถนนที่เป็นผิวจราจรเข้าบ้านนายเล็ก คิดเป็นเนื้อที่ 12 ตารางเมตร โดยอยู่ในเขตรัศมีถนนในบริเวณ 15 เมตรดังกล่าว โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทแล้วข้ออ้างตามฎีกาของนายไพรว่า นายไพรอุทิศที่พิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามป.พ.พ.มาตรา 1299 เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่าการอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นทางสาธารณะเช่นนี้ เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามป.พ.พ.มาตรา 1304 กรณีเช่นนี้หาจำต้องจดทะเบียนการ ให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามป.พ.พ.มาตรา 525 ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย นายไพรมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของนายไพรฟังไม่ขึ้น ” พิพากษายืน

              จะเห็นได้ว่า การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นทางสาธารณะเป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามป.พ.พ.มาตรา 1304 ไม่จำต้องจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามป.พ.พ.มาตรา 525 ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2530 นายไพรได้ทำหนังสืออุทิศที่พิพาทดังกล่าวให้แก่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทแล้ว นายไพรมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายใดๆจากนายเล็กได้
              (อ้างอิง : ฎ.9/2538)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด