ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ได้มั้ย?

ศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ได้!!

ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ได้มั้ย?

                    โทษตามกฎหมายอาญามีอยู่ด้วยกัน 5 สถาน ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์ ซึ่งแน่นอนว่าใครทำผิดอะไรก็ต้องได้รับโทษตามที่สมควร แต่ถึงอย่างนั้นหากเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เช่น ความผิดลหุโทษ หรืออาจจะเป็นความผิดอื่นที่กฎหมายกำหนดโทษปรับเอาไว้ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจลงแค่โทษปรับได้ แต่สำหรับบางคนแม้จะเป็นแค่โทษปรับก็อาจหนักหนาสำหรับเขาแล้วก็ได้ครับ คำถามที่ตามมาก็คือหากเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับล่ะ เขาจะสามารถทำยังไงได้บ้าง วันนี้เรามาตอบคำถามนี้ให้กับทุกคนครับ
                    หากไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ กฎหมายก็มีการกำหนดวิธีการอื่นแทนการปรับเอาไว้ คือ การกักขังแทนค่าปรับหรือการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากถูกกักขังอยู่แล้ว วันนี้ผมเลยจะมาเล่าวิธีที่ 2 การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับให้ทุกคนทราบกันไว้นะครับ

งานบริการสังคมแทนค่าปรับ คืออะไร

                  งานบริการสังคมแทนค่าปรับ คือ ทางเลือกของผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กฎหมายจึงมีทางเลือกให้ผู้กระทำผิดสามารถทำงานบริการสังคมให้แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรแทนการจ่ายค่าปรับได้ โดยที่ในการทำงานบริการสังคมจะไม่ได้ค่าตอบแทนหรือค่าจ้างครับ
                 โดยกฎหมายมีการบัญญัติรับรองไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 ที่วางหลักว่า กรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ หรือถ้าในขณะพิพากษาคดีศาลเห็นว่า ผู้ต้องโทษปรับรายใดอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และถ้าผู้ต้องโทษปรับยินยอม ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้

อัตราการหักค่าปรับ

                  โดยการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับนี้จะใช้อัตราเหมือนกับการจำคุกแทนค่าปรับเลยครับ คือหักค่าปรับที่ต้องจ่ายในอัตราวันละ 500 บาท ทำงาน 1 วันก็หักไป 500 บาทจากเงินที่ศาลสั่งปรับครับ ถ้าศาลสั่งปรับ 5,000 บาทแล้วเราไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เราสามารถเลือกทำงานบริการสังคม 10 วันแทนการจ่ายค่าปรับทั้งหมดได้ครับ
                แต่การทำงาน 1 วัน ไม่ใช่ทำ 24 ชั่วโมงหรือทำทั้งวันนะครับ ขึ้นอยู่กับงานแต่ละประเภทว่าทำกี่ชั่วโมงถึงจะนับว่าทำงาน 1 วัน ส่วนงานแต่ละประเภทจะเป็นยังไงและต้องทำกี่ชั่วโมงบ้าง คำตอบจะอยู่ในส่วนต่อไปครับ

ประเภทงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

งานบริการสังคมแทนค่าปรับจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท
1. งานช่วยเหลือ ดูแล อำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็ก
กำพร้า หรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล โดยงานประเภทนี้ทำ 2 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน
2. งานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ หรือการค้นคว้าวิจัย
เป็นต้น โดยงานประเภทนี้ทำ 2 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน
3. งานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น งานช่าง
ฝีมือเครื่องยนต์ งานก่อสร้าง หรืองานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยงานประเภทนี้ทำ 3 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน
4. งานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความ
เชี่ยวชาญ เช่น งานทำความสะอาด งานพัฒนาที่สาธารณะ ปลูกป่า หรือดูแลป่า เป็นต้นโดยงานประเภทนี้ทำ 4 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 ว

ขั้นตอนการขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

1.แจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่าต้องการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ
2.เจ้าหน้าที่จะจัดทำคำร้องเพื่อเสนอต่อศาลที่พิพากษาคดี
3.หากศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้ต้องโทษปรับไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติ
4.สำนักงานคุมประพฤติจะดำเนินเรื่อง จากนั้นจึงเริ่มทำงานบริการสังคม

                 เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมหวังว่าเรื่องการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับที่ผมนำมาเล่าให้ทุกคนฟังในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนในภายภาคหน้า ไม่มากก็น้อยนะครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด