เปิดหลักเกณฑ์การประกันตัวชั้นศาล ศาลพิจารณาอะไรบ้าง!?
เปิดหลักเกณฑ์การ ประกันตัวชั้นศาล
ศาลพิจารณาอะไรบ้าง!?
พร้อมวิธีเขียนคำร้องขอ ประกันตัวชั้นศาล
เปิดหลักเกณฑ์การประกันตัวชั้นศาล ศาลพิจารณาอะไรบ้าง!?
ในคดีอาญาที่ผู้ต้องหาถูกจับ เมื่อครบตามเวลาที่ตำรวจจะควบคุมตัวไว้ได้ ตำรวจจะนำผู้ต้องหามาฝากขังที่ศาล หรือในกรณีที่ประชาชนฟ้องกันเอง ถ้าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลเห็นว่าคดีมีมูลและสั่งประทับฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่อยากติดคุกสามารถประกันชั้นศาลออกมาได้ครับ และหัวข้อในวันนี้่ก็คือเรื่องการประกันตัวชั้นศาล พร้อมวิธีเขียนคำร้องขอประกันตัวครับ
การประกันตัว หรือ การปล่อยตัวชั่วคราว
การประกันตัว คือ การขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาชั่วคราวออกมาจากการควบคุมหรืออำนาจของศาลในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่จะขอประกันตัวชั้นศาลมักจะเป็นคนที่ต้องการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม เพื่อออกมาเตรียมตัวพิจารณาคดีหรือเตรียมพยานหลักฐานเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี
เหตุที่ศาลพิจารณาในการประกันตัว
โดยหลักผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายก็กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเอาไว้ว่าในการพิจารณาการประกันตัวชั้นศาลจะต้องดูอะไรประกอบบ้าง ตามนี้เลยครับ
1.ความหนักเบาแห่งข้อหา
2.พยานหลักฐานปรากฏแล้วเพียงใด
3.พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
4.เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่
6.ภัยอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีหรือไม่เพียงใด
7.กรณีขังตามหมายศาล มีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย คัดค้านหรือไม่
เหตุที่จะไม่ให้ประกันตัวชั้นศาล
ต้องมีเหตุอันควรเชื่อบางอย่างดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ศาลถึงจะไม่ให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวได้
1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4.ผู้ขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5.การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
6.อัยการหรือพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว
7.ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มีการงาน
8.ให้การรับสารภาพทั้งชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล
9.ไม่ได้ให้เหตุผลในการขอประกันตัวว่าจะออกไปทำอะไร
10.ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ไม่น่าเชื่อถืออาจจะเคยถูกปล่อยตัวแล้วหลบหนีมาครั้งหนึ่ง
11..คดีที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยทั่วไปต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และความเสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไป
คำร้องขอประกันตัวชั้นศาล
เราก็ได้รู้หลักการกันมาพอสมควรแล้วนะครับ ในการเขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือขอประกันตัวชั้นศาลนั้น เราก็จะใช้วัตถุดิบจากข้อเท็จจริงเฉพาะตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยมาประกอบกับเหตุที่ศาลจะให้หรือไม่ให้ประกันตัวข้างต้นนั่นแหละครับ โดยคำร้องนี้จะเป็นคำร้องที่ยื่นเมื่อเราถูกฟ้องคดีแล้วนะครับ
การเขียนคำร้องขอประกันตัวนั้น จะแยกได้เป็น 2 แบบ
1.คำร้องขอประกันตัวชั้นศาลแบบไม่มีหลักทรัพย์ประกัน
1.1 กรณีนี้เราต้องเริ่มจากการเล่าว่าคดีอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว จากนั้นอธิบายว่าเราถูกฟ้องในข้อหาอะไร อัตราโทษเป็นอย่างไร
1.2 อ้างเหตุว่าตนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งที่แน่นอน รวมถึงมีรายได้หรือประกอบธุรกิจแบบไหนก็บรรยายให้ศาลเห็นว่าตนจะไม่หลบหนีหรือยังสามารถชำระเงินให้โจทก์หรือผู้เสียหายได้
1.3 ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน
2.คำร้องขอประกันตัวชั้นศาลแบบมีหลักทรัพย์ประกัน
การประกันตัวแบบมีหลักทรัพย์นี้จะเขียนคล้าย ๆ กับแบบไม่มีหลักทรัพย์เลยครับ คือ เขียนให้ชัดว่าตนจะไม่หลบหนี แต่จะต่างกันที่อธิบายเพิ่มเติมว่าหลักทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นประกันคืออะไร เช่น เงินสด โฉนดที่ดิน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือสมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้นครับ
เขียนเองไม่ได้ เจ้าหน้าที่พิมพ์ให้
ใครที่ไม่สามารถเขียนหรือพิมพ์เองได้ ทางศาลก็มีเจ้าหน้าที่ในการบริการจัดทำคำร้องขอประกันตัวชั้นศาลให้ด้วยนะครับ โดยสามารถติดต่อได้ที่งานประชาสัมพันธ์หรืองานประกันตัวได้เลย โดยเราก็เตรียมเอกสารหลัก ๆ ไปครับ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และเอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เราจะใช้เป็นหลักประกัน จากนั้นพอถึงศาลก็เดินไปแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าเราจะมาประกันตัวใคร เลขคดีอะไร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเราเบื้องต้นว่าเป็นใคร ประกันแบบใช้หลักทรัพย์หรือไม่ เป็นต้น พอยื่นเอกสารเรียบร้อยก็นั่งรอเจ้าหน้าที่เรียกเพื่อดำเนินการต่อไปครับ
ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ทำอะไรได้บ้าง?
ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้หรือจะขอปล่อยชั่วคราวใหม่ก็ได้ แต่การยื่นใหม่ควรมีเหตุผลที่สมควรที่จะทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมด้วยนะครับ
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!