การสมรสที่เป็นโมฆะ

รู้หรือไม่? ืสมรสแบบไหนเป็นโมฆะ  โมฆะแล้วผลจะเป็นอย่างไร ?

การสมรสที่เป็นโมฆะ

              การสมรสเป็นการเปลี่ยนสถานะของคนสองคนให้กลายเป็นคู่สามีภริยาตามกฎหมาย มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายครอบครัวต่อกัน แต่การสมรสที่ผมว่าจะต้องเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนะครับ  ถ้าการสมรสนั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย การสมรสนั้นก็อาจเป็นการสมรสที่เป็นโมฆะได้ แล้วการสมรสที่เป็นโมฆะจะมีกรณีใดบ้าง เราไปดูกันเลยครับ

การสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

               อย่างที่เรารู้กันง่าย ๆ เลยนะครับ การสมรสจะชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอต่อนายทะเบียน ส่วนในมุมมองของกฎหมายนั้นการสมรสที่จะชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการสมรสที่เป็นไปตามกฎหมายและไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย 

การสมรสที่เป็นโมฆะ

การสมรสที่เป็นโมฆะนั้นจะเกิดได้เพียงแค่กรณีที่กฎหมายกำหนดเอาไว้เท่านั้นครับ 

โดยกฎหมายก็กำหนดเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆะเอาไว้ด้วยกันอยู่ 4 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล
กรณีที่ 2 ทั้งสองฝ่ายเป็นญาติสืบสายโลหิต
กรณีที่ 3 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสอยู่แล้ว
กรณีที่ 4 สมรสกันโดยไม่ได้ยินยอม

การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ

              ถ้าการสมรสเป็นไปตาม 4 กรณีด้านบน การสมรสดังกล่าวก็จะเป็นโมฆะ แต่การจะบอกว่าการสมรสใดเป็นโมฆะนั้นก็ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะทำได้นะครับ กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้การสมรสเป็นโมฆะก็ต้องฟ้องศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะนั่นเอง ยกเว้นกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสอยู่แล้ว กรณีนี้เราสามารถกล่าวอ้างได้เลยเพราะเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ทันที ส่วนอีก 3 กรณีจะต้องฟ้องศาลเท่านั้นครับ

ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ

          เมื่อศาลพิพากษาแล้วว่าการสมรสใดเป็นโมฆะ ศาลจะต้องแจ้งไปที่นายทะเบียนเพื่อให้บันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสครับ และการสมรสที่เป็นโมฆะจะมีผลตามกฎหมายดังนี้
1.ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ก็คือจะไม่มีเรื่องสินสมรสครับ ถ้ามีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ให้แบ่งคนละครึ่ง แต่ศาลจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยพิจารณาจากภาระ ฐานะ และพฤติการณ์อื่น ๆ ประกอบกัน
2.การสมรสในกรณีที่ 1, 2 และ 4 นั้น ฝ่ายที่สมรสโดยสุจริตจะไม่เสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะ
ส่วน ถ้าเป็นการสมรสในกรณีที่ 3 ฝ่ายที่สมรสโดยสุจริตก็จะไม่เสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่จะรู้ถึงการมีคู่สมรสของอีกฝ่าย และไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของอีกฝ่ายด้วยครับ
3.คู่สมรสฝ่ายที่สุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ ซึ่งถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่สุจริตต้องยากจนลง คู่สมรสที่สุจริตสามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้อีกด้วย
4.กรณีที่มีบุตรด้วยกันก่อนการสมรสจะเป็นโมฆะตามคำพิพากษาของศาล ทั้งสองฝ่ายทำหนังสือตกลงกันว่า ใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรและค่าเลี้ยงดูบุตร แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ศาลมีอำนาจชี้ขาดได้เลย

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด