นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง
กรณีใด

นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง

ลูกจ้างในทางกฎหมายนั้น ต้องเป็นไปในลักษณะของการจ้างแรงงาน กล่าวคือ เป็นสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ซึ่งเป็นหลักที่วางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575

นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้าง

ตามปกติของการทำงานนั้น มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น หรือเกิดข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของบุคคล ความเสื่อมของเครื่องมือ หรือขาดการวางแผนป้องกันความเสียหายในการทำงาน ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นในทางละเมิดแล้วนั้น ผู้กระทำละเมิดย่อมต้องรับผิดในผลของความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของตน

บางกรณีมูลค่าของความเสียหายนั้น มากเกินกว่าที่ลูกจ้างอันเป็นผู้กระทำละเมิดจะรับผิดชอบได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น พนักงานขับรถบรรทุก ได้ขับรถเพื่อส่งสินค้า ซึ่งจากลักษณะงานแล้ว ย่อมมีรายได้หลักหมื่นต่อเดือนและอาจไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเก็บไว้มากมายนัก แต่ในงานที่ทำหากเกิดข้อผิดพลาดในการขับรถ เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย มูลค่าของความเสียหายย่อมมากเกินกว่าที่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินของคนขับรถผู้กระทำละเมิดได้ หรือบางกรณีที่เป็นการกระทำโดยเจตนา เช่น นักข่าวในสำนักข่าว เขียนข่าวไปในทางหมิ่นประมาทบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงย่อมถือเป็นการละเมิด ต้องชดใช้ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลนั้น ซึ่งแน่นอนว่านักข่าวธรรมดาอาจไม่มีทรัพย์พอที่จะชดใช้ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้มีการวางหลักของกฎหมาย ให้นายจ้างร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง โดยในมาตรา 425 วางหลักว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางที่จ้างนั้น” ซึ่งไม่ว่าการกระทำละเมิดนั้นนายจ้างจะมีเจตนาให้กระทำละเมิด หรือนายจ้างมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ก็ตาม

การที่กฎหมายวางหลักเช่นนี้ เพราะตามหลักแล้วนายจ้างที่ประกอบกิจการใดๆ ย่อมคาดหมายได้ว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อกิจการรวมไปถึงความเสียหายต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับกิจการได้มากกว่าลูกจ้าง นอกจากนี้การร่วมรับผิดทางแพ่งของนายจ้าง ยังมีส่วนช่วยให้นายจ้างต้องคำนึงถึงผลกระทบของการทำงานต่อบุคคลภายนอก คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน และหาวิธีป้องกันบรรเทาผลของความเสียหาย เช่น การทำประกันวินาศภัย หรือ การจัดอบรมให้มีความปลอดภัยในการทำงานเป็นประจำตามสมควร

ผลจากการทำงานนั้นมิได้ถูกจำกัดอยู่ในระยะเวลางานตามการจ้างเท่านั้น หากแต่เป็นผลต่อเนื่องอันมาจากการทำงานก็ยังถือเป็นการกระทำในทางที่จ้างซึ่งอยู่ในความรับผิดของนายจ้าง

แต่ทั้งนี้ความรับผิดของนายจ้าง ย่อมร่วมรับผิดเฉพาะการที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางที่จ้างเท่านั้น หากลูกจ้างไปกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นนอกเหนือจากทางที่จ้าง เช่น นายเขียว พนักงานส่งของ ระหว่างส่งของนั้นเกิดไปเขม่นกับวัยรุ่นแถวนั้น จนทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้าม กรณีเช่นนี้ นายจ้างของนายเขียว ย่อมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายเขียวไปทำร้ายร่างกายคู่กรณี เพราะเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากทางที่จ้าง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าการในทางที่จ้างนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดเช่นนั้นได้

เมื่อนายจ้างได้ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของลูกจ้างไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างอีกได้ โดยในมาตรา 426 วางหลักไว้ว่า “นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น”

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด