การยึดทรัพย์คดียาเสพติดตามกฎหมายฟอกเงิน

ยึดทรัพย์คดียาเสพติด

ยึดทรัพย์คดียาเสพติดตามกฎหมายแบ่งได้ 3 ประเภท

ทรัพย์คดียาเสพติด

ทรัพย์ตามประเภทที่ 1 และที่ 2 นั้น ได้กล่าวไว้ในเรื่อง ยึดทรัพย์คดียาเสพติด(ทรัพย์ของกลาง) และยึดทรัพย์คดียาเสพติด(ยึดจากคณะกรรมการฯ) แล้ว ทั้งนำเสนอถึงว่าทรัพย์ใดคือทรัพย์ตามประเภทที่ 1 และที่ 2 และทางแก้ของเจ้าของทรัพย์เพื่อขอคืนทรัพย์นั้นคืน ต่อไปจะกล่าวถึงทรัพย์ประเภทที่ 3

3. การยึดทรัพย์ตามประเภทที่ 3 นี้ คือการยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงินหรือตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งการยึดทรัพย์ประเภทนี้ต้องเป็นการยึดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงินคือ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และรวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนเงินหรือทรัพย์ดังกล่าว และรวมถึงดอกผลของเงินหรือทรัพย์ที่กล่าวข้างต้นและของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่ายจ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเงินหรือทรัพย์นั้นจะจําหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใดก็ตาม

ซึ่งความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เป็นความผิดมูลฐานประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วนมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด”

ขั้นตอนการยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน แบ่งได้ดังนี้

  1. พิจารณายึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือผู้ถูกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน
  2. พิจารณายึดทรัพย์จากธุรกรรมที่ผ่านจากสถาบันการเงิน สำนักงานที่ดิน หรือผู้ประกอบอาชีพ ซึ่งจะมีรายงานธุรกรรมดังกล่าวมาที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โดยทั้งสองกรณีถ้าเป็นที่สงสัยว่าเงินหรือทรัพย์นั้นจะเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามความหมายที่กล่าว ซึ่งกรณีนี้จากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการธุรกรรม เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมจะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์นั้นไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วันจากนั้นเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็จะนำเรื่องเสนอให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

ทางแก้ของเจ้าของทรัพย์สินประเภทนี้ เจ้าของทรัพย์ควรต้องทำการชี้แจงและแสดงหลักฐานไว้ตั้งแต่ชั้นยึดหรืออายัดชั่วคราวของคณะกรรมการธุรกรรม โดยแสดงให้เห็นในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายึดชั่วคราวนั้นไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คือไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือไม่ใช่จากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และรวมถึงไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนเงินหรือทรัพย์ดังกล่าว และรวมถึงไม่ใช่ดอกผลของเงินหรือทรัพย์ที่กล่าวข้างต้นและไม่ใช่ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่ายจ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น หรือได้รับโอนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และหากในชั้นคณะกรรมการธุรกรรมจะมีการยื่นให้พนักงานอัยการยื่นต่อศาลเพื่อยึดไว้ให้ตกเป็นของแผ่นดินทางเจ้าของทรัพย์ก็จะสามารถนำประเด็นดังกล่าวไปยื่นสู้ได้อีกครั้งในชั้นศาล โดยทรัพย์ประเภทนี้ต่างกับทรัพย์ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในประเภทที่ 2 คือทรัพย์นี้แม้ในที่สุดจะไม่มีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานก็สามารถยึดได้หากเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

เช่นนี้ แล้วทรัพย์ประเภทนี้จึงแตกต่างกับทรัพย์ในประเภทที่ 1 และ ที่ 2 ทั้งในส่วนการดำเนินการและแนวนทางสู้คดี ฉะนั้น บทความนี้คงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านที่นำไปใช้ปฏิบัติได้ หากมีประโยชน์ฝากกดแชร์ด้วย

บทความกฎหมายล่าสุด