หมิ่นประมาททางออนไลน์ ผิด พรบ. คอม ไหม

หมิ่นประมาททางออนไลน์

อินเตอร์เน็ตเป็นเสมือนเครื่องมือย่อโลกให้เล็กลง ทำสิ่งที่ไกลให้ใกล้ขึ้น ให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสามารถแสดงออกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นด้านดีของอินเตอร์เน็ต แต่เพราะการที่คนทั่วไปสามารถสื่อสารกันได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อหน้ากัน ตลอดจนบางกรณีอาจมีการปิดบังตัวตนของผู้ใช้งาน จึงทำให้ใครต่อหลายคนเชื่อว่าการกระทำในอินเตอร์เน็ตยากที่จะสาวมาถึงตนได้ จึงมีการวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ จนเกินเลยไปถึงขั้นหมิ่นประมาทกันอยู่เป็นประจำ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆแผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี

ซึ่งมาตรา 328 นื้ ถือเป็นบทหนักขึ้นจากการหมิ่นประมาทธรรมดา ตามมาตรา 326

หมิ่นประมาทผู้อื่น

ซึ่งถ้าการหมิ่นประมาทต่อบุคคลเป็นการกล่าวใส่ความอันเป็นเท็จ ก็มักจะได้ยินอยู่ประจำว่าผู้เสียหายนอกจากจะดำเนินคดีทางอาญาฐานหมิ่นประมาทต่อผู้กระทำผิดแล้ว ยังจะดำเนินคดีในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “พรบ.คอมฯ“ อีกด้วย

ซึ่งเดิมที พรบ. คอมได้ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2550 โดยเจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบและดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่เดิม บัญญัติไว้ว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือเป็นความผิดที่กว้างและมีระวางโทษหนักเอาการ

เมื่อ พรบ.คอมฯ วางหลักไว้ตามนี้ การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาในกรณีที่เป็นการใส่ความอันเป็นเท็จจึงเกี่ยวข้องกับ พรบ.คอมฯ จึงมีการดำเนินคดีหรือขู่ว่าจะดำเนินคดีในความผิดตาม พรบ.คอมฯ ต่อบุคคลที่หมิ่นประมาทในอินเตอร์เน็ตไปด้วยเสมอ เมื่อมีการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าความผิดนั้นสอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่

แก้ไขกฎหมายมาตรา 14

โดยมีการกำหนดเพิ่มเติมเจตนาพิเศษคือ โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง และการกระทำผิดนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ

นั่นเพราะว่าเจตนารมณ์ของ พรบ.คอมฯ มุ่งคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเน้นป้องกันและลงโทษผู้กระทำความผิดในลักษณะอาชญากรทางไซเบอร์ ดังนั้นในปัจจุบัน การหมิ่นประมาทในอินเตอร์เน็ต ต่อบุคคล ที่มิได้มีความเกี่ยวข้องต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.คอมฯ มาตรา 14 (1) นี้

จึงสรุปว่า การหมิ่นประมาทโดยใส่ความอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่นไม่มีความผิดตาม พรบ.คอมฯ ตามที่กฎหมายได้วางหลักไว้

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

แก้ไข มาตรา 14 (1) ให้เป็นดังนี้ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิคความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด